DJ
song:
artist:
SPONSOR

สถ.-สสส.-มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม สานพลังภาคีจัดใหญ่ มหกรรม 'FUTURE IS NOW : ท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่' พร้อมเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2565 ที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดมหกรรม “FUTURE IS NOW : ท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่” และพิธีมอบรางวัลรางวัลตำบลต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นเวทีสะท้อนแนวคิด ความฝัน ความมุ่งมั่นของตัวแทนคนรุ่นใหม่ในฐานะสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลทั่วประเทศ

 

 

นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การให้สิทธิเด็กมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เป็น 1 ใน 4 ของสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ผ่านกลไกพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนทุกระดับ โดยเฉพาะในรูปแบบสภาเด็กและเยาวชน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่สร้างการสื่อสารเชิงบวก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดอย่างสร้างสรรค์ โดย สถ. สสส. และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม สานพลังขับเคลื่อนโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ส่งเสริม พัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน เกิดระบบสนับสนุนในท้องถิ่น ตลอดจนขยายผลพื้นที่ต้นแบบ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับ อปท.อื่นที่สนใจ

 

 

นายโชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า งานนี้ เป็นการบอกเล่าความสำเร็จจากการสานพลังระหว่าง สถ. สสส. และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ในการดำเนินโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2564 สนับสนุนกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ จนเกิดเป็นตำบลต้นแบบด้านสภาเด็กและเยาวชน  30 แห่งทั่วประเทศ จัดงานขึ้น 3 วัน 2 วันที่ผ่านมาเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง อปท.ต้นแบบและ อปท.ที่สนใจ ส่วนวันนี้มีพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติตำบลต้นแบบ 30 แห่ง นิทรรศการ “Future is now” ที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ 5 โซน อาทิ อนุสาวรีย์แห่งการมีส่วนร่วม How are You(th) บอกเล่าความฝันและความหวังของคนรุ่นใหม่ ไฮไลท์คือ MUSIC TALK นำเสนอประสบการณ์และแนวคิดการทำกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ผ่านบทเพลง มีผู้บริหาร สมาชิกสภาเด็กและเยาวชน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อปท. ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 400 คน

 

 

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น นับเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สำคัญเพราะเปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรมด้วยตัวเอง โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมืองใหญ่ซึ่งไม่ค่อยมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนมากนัก สภาเด็กฯ มีความสำคัญใน 4 มิติ 1.เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน 2.ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ ผ่านการทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ในชุมชน 3.ให้โอกาสมีส่วนร่วมออกแบบ หรือผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน 4.มีส่วนช่วยลดช่องว่างความเข้าใจระหว่างวัย ด้วยการมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็น

ซึ่งขณะนี้ สถ. สสส. และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม อยู่ระหว่างพัฒนาเว็บไซต์ coach for change เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเยาวชนเชิงบวกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เพื่อให้ อปท.กว่า 7.000 แห่งทั่วประเทศ ได้เรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในการสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งมีเด็กและเยาวชนจำนวน 20 – 25 คนต่อ อปท. รวมเกือบ 200,000 คน ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นางสาวณัฐยา กล่าว